เกี่ยวกับงานประชุม
ประชากรและความยั่งยืน: ประเด็นสำคัญทางนโยบาย (Population and Sustainability: Key Policy Highlight)
หลักการและเหตุผล
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านประชากรและสังคมอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สถาบันฯ ดำเนินบทบาทสำคัญทางวิชาการให้กับสังคมไทย ด้วยการพัฒนาสร้างเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่หลากหลายในลักษณะสหวิทยาการด้านประชากรและสังคม อีกทั้งนำเสนอความรู้และข้อค้นพบสำคัญ ๆ จากการศึกษาวิเคราะห์วิจัย ไปเผยแพร่ทั้งในแวดวงวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงรุก ในการเตรียมความพร้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วัฒนธรรม และการเมือง อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศ และในภูมิภาคต่างๆ ของโลก สถาบันฯ มุ่งหวังว่าองค์ความรู้และข้อค้นพบต่างๆ ที่หลากหลายจากผลการวิเคราะห์วิจัย จะมีความสำคัญต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสำหรับการบรรลุเป้าหมายความอยู่ดีมีสุขร่วมกันอย่างยั่งยืนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
สถาบันฯ เล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดข้อค้นพบและบทวิเคราะห์ด้านประชากรและสังคมสู่สาธารณะ จึงได้ริเริ่มจัดประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม” ขึ้นทุกปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นเวทีที่นักวิชาการด้านประชากรและสังคมสามารถคืนความรู้สู่สังคมได้ โดยในทุกปีมีการคัดเลือกประเด็น (Theme) การประชุมที่แตกต่างกันไป แต่มีความสอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ของสังคมในขณะนั้น
วัตถุประสงค์
- เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ มุมมองทางวิชาการและข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยของสถาบันฯ สู่สาธารณะ ในประเด็นด้านประชากรและสังคมมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ประชากรและความยั่งยืน
- เพื่อเป็นเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของบุคลากรสถาบันฯ กับเครือข่ายทางวิชาการในหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ภายใต้หัวเรื่องการประชุม “ประชากรและความยั่งยืน: ประเด็นสำคัญทางนโยบาย”
ผู้เข้าประชุม
1) องค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบครอบครัว อาทิ ความอยู่ดีมีสุข สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย นโยบาย และ การสร้างเสริมสนับสนุน “สถาบันครอบครัว”
2) คณาจารย์และนักวิชาการสถาบันการศึกษาต่างๆ
3) ผู้ทรงคุณวุฒิ
4) นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป